วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2552

วัดบรมราชาฯ (เล่งเน่ยยี่ 2)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์ (เล่งเน่ยยี่ 2) (จีน: 普頌皇恩寺)

เป็นวัดจีนในความอุปถัมภ์ของคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 75 หมู่ 4 ตำบลโสนลอย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี บนพื้นที่ 12 ไร่เศษ จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในวโรกาส งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539
-------------------------------------------------------------------------------------------------
ประวัติ

วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์ เดิมเป็นโรงเจขนาดเล็ก บนพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ต่อมา คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์แห่งประเทศไทย โดยวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) ได้มอบหมายให้ พระเดชพระคุณพระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ (ท่านเจ้าคุณเย็นเชี้ยว) เป็นประธานดำเนินการจัดสร้างฝ่ายสงฆ์ และ พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร เป็นประธานที่ปรึกษาการจัดสร้างฝ่ายสงฆ์ โดยเปิดให้พุทธบริษัทไทย-จีนได้ร่วมบุญ ในการจัดสร้าง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ในวโรกาสดังกล่าว

โดยมี นายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง เป็นผู้ดำเนินการขอพระบรมราชานุญาตจัดสร้างวัดฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทั้งนี้ ทรงมีพระบรมราชานุญาต ซึ่งในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์ โดยเมื่อเวลา 15.00 น. วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เสด็จทรงเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ฯ

เมื่อเวลา 17.00 น. วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีสมโภช วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์ อย่างเป็นทางการ โอกาสนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ โดยเสด็จฯ ในการนี้ด้วย อนึ่ง ทางวัดฯ ได้จัดให้มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และงานสมโภชวัดฯ ระหว่างวันที่ 20-26 มีนาคม พ.ศ. 2551 เป็นเวลา 7 วัน 7 คืนด้วย

ปัจจุบัน วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์ ได้จัดสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการกว่า 12 ปี (2539-2551) ในบริเวณวัดประกอบด้วยวิหารต่างๆ ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรม ตามแนวปรัชญาและคติธรรมทางพระพุทธศาสนาจีนนิกายฝ่ายมหายาน อันประกอบด้วย วิหารพระกวนอิมโพธิสัตว์, วิหารหมื่นพุทธเจ้า, วิหารบูรพาจารย์, ห้องปฏิบัติธรรม, ที่พำนักสงฆ์ และโรงเรียนพระปริยัติธรรม



ถ่ายเมื่อ 26 พ.ค. 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น